close

หน้าแรก

menu
search

ชำแหละงบปี 65 รบ.ลดเงินอุดหนุนท้องถิ่น คาดรายได้หาย 7.6 หมื่นล้าน

schedule
share

แชร์

          ส.ส.ก้าวไกลเปิดข้อสังเกตงบประมาณปี 2565 รบ.ย้ายงบอุดหนุน อสม.ออก แต่ไม่จัดเงินอุดหนุนชดเชย คาด อปท. รายได้ลดลงกว่า 76,000 ล้านบาท พร้อมแจงภาพรวมงบ 20 กระทรวง

 

          ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอไปเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 64 ซึ่งก่อนเสนอร่างฯ ต่อ ครม. ได้ผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ตามมาตรา 77 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้สำนักงบประมาณจำได้จัดพิมพ์ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และเอกสารประกอบงบประมาณ เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบอีกครั้งในวันที่ 11 พ.ค. 2564 และเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร พิจารณา ในวันที่ 26-27 พฤษภาคมนี้

 

           สำหรับวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 3.1 ล้านล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2564 ที่ 1.85 แสนล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 5.66 เป็นงบประมาณรายจ่ายประจำ 2.36 ล้านล้านบาท งบประมาณรายจ่ายลงทุน 6.24 แสนล้าบาท รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 1 แสนล้านบาท รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย 2.49 หมื่นล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 596.7 ล้านบาท

 

            ด้านนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้จัดทำสรุปข้อสังเกตเกี่ยวกับ พ.ร.บ.งบประมาณดังกล่าว ในส่วนที่เกี่ยวกับท้องถิ่น ระบุว่า รัฐเอาเงินอุดหนุนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกจากเงินอุดหนุนองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กลับไปให้กระทรวงสาธารณสุข ประมาณปีละ 12,500 ล้านบาท แต่ก็ไม่ได้มีการชดเชยเงินอุดหนุนเพิ่มเติมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยในปีงบประมาณ 2565 รัฐอุดหนุนเงินให้ อปท. ลดลง 5% (หลังหักเอาเงิน อสม. ออกแล้ว) และคาดว่า อปท. จะมีรายได้น้อยกว่าปีงบประมาณก่อนประมาณ 76,000 ล้านบาท หรือลดลง 9%

 

          ทั้งนี้ รายได้ของ อปท. อาจต่ำกว่าที่ประมาณการลงอีก เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาลที่จะมีการให้ลดภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นรายได้โดยตรงของท้องถิ่นลงถึงร้อยละ 90 สำหรับปีภาษี 2564 และหากการเก็บภาษีของรัฐไม่เป็นไปตามเป้า ก็จะทำให้รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ และรายได้ที่รัฐแบ่งให้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ลดลงไปอีก

 

          ด้านอื่นๆ มีรายละเอียดดังนี้ 1. งบประมาณรายจ่ายถูกปรับลดจากปีก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี งบประมาณปี 65 ถูกปรับลดลงเหลือ 3.1 ล้านล้านบาท จาก 3.29 ล้านล้านบาทในปี 2564 (-5.7%) โดยครั้งสุดท้ายที่งบประมาณรายจ่ายของประเทศถูกปรับลดลง เกิดขึ้นในปีงบประมาณ 2553 ในช่วงที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นวิกฤตการณ์การเงินโลก หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในครั้งนั้นรัฐบาลได้ปรับงบประมาณปี 2552 ลงถึง 13% เหลือเพียง 1.7 ล้านล้านบาท ถึงงบประมาณจะถูกปรับลด แต่รัฐบาลก็ทำงบประมาณขาดดุลในสัดส่วนที่สูงถึง 22% และกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลสูงกว่ารายจ่ายลงทุน ซึ่งผิดพรบ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 จำเป็นต้องแถลงเหตุผลต่อสภาในวาระที่ 1

          

          2. 17 จาก 20 กระทรวงถูกปรับลดงบประมาณ โดยกระทรวงที่ถูกปรับลดงบมากที่สุด คือกระทรวงศึกษาธิการ โดยถูกปรับลดลงกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมาการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นหน่วยรับงบประมาณภายในกระทรวงศึกษาธิการที่ถูกปรับลดมากที่สุด คือถูกปรับลดลงถึงกว่า 20,000 ล้านบาท ในจำนวนนั้น 13,264 ล้านบาท เป็นการลดงบในแผนงานบุคลากรภาครัฐ ซึ่งก็คือส่วนของเงินเดือนค่าตอบแทน กระทรวงที่ถูกตัดงบมากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ แรงงาน (-19,977 ลบ.) มหาดไทย (-17,144 ลบ.) คมนาคม (-14,100 ลบ.)

 

          3. 3 กระทรวงได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น กระทรวงที่ได้รับงบเพิ่มมากที่สุด คือ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะเป็นเงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย รองลงมา คือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยได้รับงบประมาณเพิ่ม 2,300 ล้านบาท โดยไปเพิ่มให้กับกรมเด็กและเยาวชน คงต้องลุ้นกันต่ออีกปีว่าจะเป็นเงินเลี้ยงดูเด็กแบบถ้วนหน้าหรือไม่ ส่วนกระทรวงที่งบประมาณเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ คือกระทรวงพลังงาน โดยมีสัดส่วนงบประมาณเพิ่มขึ้น 19% เพิ่มให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (+80%) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (+37%)

 

          4. กลาโหมถูกปรับลดงบประมาณลง 11,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.24% แต่ที่น่าสนใจคืองบบุคลากรของกระทรวงกลาโหมกลับเพิ่มขึ้นทั้ง 3 เหล่าทัพ

  • กองทัพบก เพิ่มขึ้น 799 ล้านบาท เป็น 58,892 ล้านบาท
  • กองทัพเรือ เพิ่มขึ้น 531 ล้านบาท เป็น 21,283 ล้านบาท
  • กองทัพอากาศ เพิ่มขึ้น 365 ล้านบาท เป็น 13,258 ล้านบาท

          5. งบเพื่อสวัสดิการและการศึกษาหลายอย่างถูกตัด แม้เราอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ เช่น กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ถูกตัดงบลง 5,740 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ถูกตัดงบลง 432 ล้านบาท เหลือ 5,652 ล้านบาท

 

          หรือแม้แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ถูกปรับลดงบประมาณลง 1,815 ล้านบาท เหลือเพียง 140,550 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ สปสช. เองก็คาดการณ์ว่าจะมีผู้ที่เข้ามาใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 137,000 คน ในปี 2564 และอาจมีเพิ่มมากขึ้นหากสภาวะทางเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่

(ที่มา:https://www.nhso.go.th/news/2992)

          

          อีกกองทุนหนึ่งที่ถูกปรับลดคือกองทุนประกันสังคม โดยถูกตัดถึง 19,253 ล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 30% แต่เมื่อดูจากสถิติของผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม พบว่าจำนวนผู้ประกันตนในเดือนมกราคม 2564 ลดลงจากเดือนมีนาคมปีที่แล้ว เพียง 2% จากจำนวนผู้ประกันตนทั้งหมดเท่านั้น

 

          อย่างไรก็ตาม ยังมีสวัสดิการบางตัวที่อาจได้รับงบประมาณเพิ่ม คือ กรมกิจการเด็กและเยาวชน ในแผนงานยุทธศาสตร์สร้างหลักประกันทางสังคม ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นเป็น 17,296 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,479 ล้านบาท) โดยน่าจะเป็นการขยายการอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด

 

          6. งบกลางลดลงจากปีก่อน 43,500 ล้านบาท แต่ที่ลดลงมาได้ 40,300 ล้านบาทนั้น เป็นเพราะในปี 2565 ไม่ได้มีการตั้งงบกลางสำหรับแก้ปัญหา บรรเทา ผลกระทบจากโควิดฯ ไว้เหมือนเมื่อปีงบประมาณก่อน โดยตัวเลขงบประมาณสำหรับงบกลางที่น่าสนใจมีดังต่อไปนี้

  • เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญของข้าราชการ เพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท
  • เงินสำรอง สมทบ ชดเชย ของข้าราชการ เพิ่มขึ้น 2,662 ล้านบาท
  • ค่าใช้จ่ายโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และค่าใช้จ่ายในการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ ลดลงรายการละ 200 ล้านบาท
  • เงินเลื่อนเงินเดือนและปรับวุฒิข้าราชการ ลดลง 3,952 ล้านบาท
  • เงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ลดลง 10,000 ล้านบาท

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]