พิษโควิด-ลดภาษีที่ดินร้อยละ 90 ทำครึ่งปีแรกรายได้รวมท้องถิ่นสูญ 5 หมื่นล้าน ด้านรัฐบาลยังไร้มาตรการช่วยเหลือ แย้มทางออกดึงเงินสะสมมาใช้ก่อน
ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลสุทธิในช่วงครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2563 (ตุลาคม 2562-2563) มีรายได้สุทธิ 1.143 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1.5 หมื่นล้านบาท และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 จำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 เป็นผลมาจากการขายเวลายื่นแบบและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
สะเทือนมาถึงรายได้ที่รัฐบาลจะแบ่งให้ท้องถิ่นลดลง ตามรายงานของกระทรวงมหาดไทยที่ระบุว่า รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้จากการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม และรายได้จากการจัดสรรภาษีสรรพสามิต ที่ส่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2563 เหลือเพียง 1.23 แสนล้านบาท จากที่เคยส่งให้ในปี 2562 กว่า 1.34 แสนล้านบาท ลดลงกว่า 1 หมื่นล้านบาท
โดยเป็นรายได้ที่รัฐบาลจัดสรรให้ อทป.ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เป็นจำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท และจัดสรรรายได้จาก VAT ให้ อบจ. 8.8 พันล้านบาท
ขณะที่เมื่อรวมได้รายจากทุกทางแล้ว ทั้งส่วนที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ทั้งรัฐบาลจัดสรรและอุดหนุนให้ ในครึ่งแรกปี 2563 อปท.ทั่วประเทศมีรายได้รวมกันราว 3 แสนล้านบาท เทียบกับปี 2562 ในช่วงเวลาเดียวกันมีรายได้ 3.5 แสนล้านบาท ทำให้รายได้อปท.ลดลงกว่า 5 หมื่นล้านบาท
รายได้ส่วนที่ลดลงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ขยายเวลาจัดเก็บไปเป็นเดือนสิงหาคม 2563 ทำให้อปท.ยังขาดรายได้ในส่วนนี้ ต่อมาเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท 90% เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบจากโควิด-19 ให้ประชาชน ท้องถิ่นจึงต้องสูญเสียรายได้กว่า 3.4 หมื่นล้านบาท จากที่คาดว่าจะเก็บได้ 4 หมื่นล้านบาท ทำให้เหลือรายได้จากส่วนนี้เพียง 4 พันล้านบาท
รายได้ของท้องถิ่นทั้งหมดในแต่ละปีงบประมาณ 90% เป็นส่วนที่ได้รับมาจากรัฐบาล ทั้งส่วนที่รัฐจัดเก็บให้ รายได้ที่รัฐแบ่งให้ และเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ ท้องถิ่นจัดเก็บเองประมาณ 10% ซึ่งเป็นรายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ประมาณ 5 % ตัวเลขสัดส่วนน้อย แต่จำนวนเงินมีมูลค่าหลายพันล้านบาท
ด้านผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้แสดงความเห็นกรณีท้องถิ่นเก็บภาษีที่ดินได้น้อยลงว่า ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของท้องถิ่น เนื่องจากยังมีเงินก้อนใหญ่ที่เป็นรายได้รวมจากเงินที่รอยู่กว่า 7 แสนล้าน ซึ่งมาจากส่วนที่รัฐจัดเก็บให้ รัฐแบ่งให้ รวมทั้งเงินที่รัฐจัดสรรให้ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนฯ ในกรณีที่รัฐบาลเก็บรายได้ภาษีลดลง คลังแบ่งให้ท้องถิ่นลดลง และท้องถิ่นมีรายได้ไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาทบทวนในส่วนของเงินสะสม เนื่องจากท้องถิ่นยังมีเงินสะสมอยู่กว่าแสนล้านบาท
ขณะที่ พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ 90% ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกือบครึ่งเดือนแล้ว รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาเพื่อเยียวยาในส่วนของเงินรายได้ท้องถิ่นที่หายไป เงินสะสมท้องถิ่นจึงอาจถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาจริงๆ ก็เป็นได้