เมื่อวันที่ 16 เม.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ พระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ. 2562 มีทั้งหมด 22 มาตรา ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวราง มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานทางจริยธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำ และยินยอม ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่รัฐสภา โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องประพฤติปฏิบัติตนอย่างมีคุณธรรม ตามมาตรฐานทางจริยธรรม มี 7 ประการ ดังนี้
- ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ อันได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- ซื่อสัตย์สุจริต มีจิตสำนึกที่ดี และรับผิดชอบต่อหน้าที่
- กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
- คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว และมีจิตสาธารณะ
- มุ่งผลสัมฤทธิ์ของงาน
- ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ
- ดำรงตนเป็นแบบอย่างที่ดีและรักษาภาพลักษณ์ของทางราชการ
มาตรฐานทางจริยธรรมตามข้างต้นนี้ ให้ใช้เป็นหลักสำคัญในการจัดทำประมวลจริยธรรม ของหน่วยงานของรัฐที่จะกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกี่ยวกับสภาพคุณงาม ความดี ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยึดถือสำหรับการปฏิบัติงาน การตัดสินความถูกผิด การปฏิบัติที่ควรกระทำ หรือไม่ควรกระทำ ตลอดจนการดำรงตนในการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว
พ.ร.บ. ฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับ เจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น และมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในฝ่ายบริหาร แต่ไม่รวมถึง หน่วยงานธุรการของรัฐสภา องค์กรอิสระ ศาล และองค์กรอัยการ
โดยกำหนดให้มี “คณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม” หรือ ก.ม.จ. ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน ผู้แทนคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนห้าคน ได้แก่ ผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ คณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น และสภากลาโหม อย่างละหนึ่งคน และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งจำนวนไม่เกินห้าคนเป็นกรรมการ โดยให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ โดย ก.ม.จ. มีหน้าที่และอำนาจ เสนอแนะและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านมาตรฐานทางจริยธรรม และการส่งเสริมจริยธรรมภาครัฐต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางหรือมาตรการในการขับเคลื่อน การดำเนินกระบวนการรักษาจริยธรรม กำกับ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินการตามมาตรฐานทางจริยธรรม เป็นต้น
กดอ่านรายระเอียด พ.ร.บ. ต่อที่นี่