เปิดคำวินิจฉัย คณะกรรมการกฤษฎีกา ระเบียบมท. ที่จำกัดสิทธิรับเบี้ยผู้สูงอายุ “ขัดรัฐธรรมนูญ” ห้ามเรียกเงินคืน หากคืนมาแล้วต้องจ่ายคืนผู้สูงอายุ แนะ “มหาดไทย” แก้ระเบียบ
จากกรณีที่กรมบัญชีกลาง มีหนังสือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืนจากผู้สูงอายุรายหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังจากตรวจสอบแล้วพบว่า ได้รับเบี้ยผู้สูงอายุทับซ้อนกับเงินบำนาญของลูกชายที่มีอาชีพทหาร และเสียชีวิตในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเรียกเงินคืนย้อนหลัง 10 ปี พร้อมดอกเบี้ย เป็นเงินเกือบ 1 แสนบาท
หลังข่าวถูกแพร่ออกไป พบว่ามีผู้สูงอายุที่เข้าข่ายต้องเรียกเก็บเงินคืนถึง 15,323 คน ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้สูงวัยที่มีฐานะยากจนเป็นอย่างมาก พร้อมกับคำถามที่ว่า เหตุใดระบบการทำงานของราชการจึงปล่อยให้รับเงินมานานกว่า 10 ปี จึงเพิ่งจะมาตรวจสอบ
สำหรับการเรียกเงินคืนครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นผู้ที่ขาดสิทธิตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยเหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 และตามลักษณะต้องห้าม ข้อ 6 แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 ที่ระบุลักษณะของผู้สูงอายุที่ขาดสิทธิคือ ผู้ที่ได้รับเงินสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือ อปท. จัดให้เป็นประจำ รวมไปถึงผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือ อปท.
เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา จึงกลายเป็นภาระของผู้สูงอายุและทายาทที่จะต้องนำเงินไปคืน รวมทั้งเป็นภาระของ อปท.ที่ต้องเรียกเงินคืน และทำเรื่องผ่อนผันการชำระหนี้ในอีกหลายขั้นตอน
| อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง เปิดทาง อปท.เรียกคืนเบี้ยผู้สูงอายุจากคนขาดสิทธิ์
ขณะที่อีกด้านหนึ่งมีความกังขาว่า มาตรา 11 (11) แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 กำหนดให้ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนในด้านการจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ประกอบกับมาตรา 12 กำหนดให้การเรียกร้องสิทธิและการได้มาซึ่งสิทธิหรือประโยชน์ของผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอื่น
ดังนั้น ข้อห้ามตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ พ.ศ. 2552 และ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 เป็นระเบียบที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ?
กรมกิจการผู้สูงอายุ จึงได้ส่งข้อหารือไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้ความกระจ่างในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต่อมาคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้มี บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 เพื่อตอบข้อหารือดังกล่าว
ผลการวินิจฉัยระบุว่า เงื่อนไขที่กำหนดว่าผู้สูงอายุที่จะได้รับเบี้ยยังชีพต้องไม่เป็นผู้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ ฯลฯ เป็นเงื่อนไขที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ เงื่อนไขนั้นจึงใช้บังคับไม่ได้ การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเงินให้โดยชอบแล้ว ในกรณีที่ผู้สูงอายุนำเงินมาคืนให้กับทางราชการแล้ว หน่วยงานของรัฐที่รับเงินคืนไว้ ต้องจ่ายเงินคืนให้กับผู้สูงอายุต่อไป
พร้อมข้อเสนอแนะ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฯ โดยเงื่อนไขในการจ่ายเบี้ยยังชีพนั้น ต้องจ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งต้องพิจารณาว่า รายได้เท่าใด จึงเรียกได้ว่าไม่เพียงพอ อาจพิจารณาจากข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ เช่น จำนวนรายได้ที่ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีตามฐานข้อมูลกรมสรรพากร เป็นต้น เพื่อให้การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฯ