close

หน้าแรก

menu
search

ก.ก.ถ.เปิดตัวเลข ‘รายได้ท้องถิ่น’ พร้อมแนวทางชดเชยรายได้หาย

schedule
share

แชร์

  ผอ.ก.ก.ถ. เผยแนวโน้มประมาณการรายได้ท้องถิ่นปีงบประมาณ2564-2565 พร้อมเสนอแนวชดเชยรายได้จากผลกระทบภาษีที่ดินฯ 53 หมื่นล้านในห้วง 3 ปี เตรียมชง ครม. พิจารณา

  ในการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 นายวิฑูร เอี่ยมโอภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “แนวโน้มรายได้ของท้องถิ่น และแนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาล”

ภาพรวมแนวโน้มรายได้ของท้องถิ่น

  ทิศทางขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตอนนี้ค่อนข้างลำบาก เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของวิด-19 ทำให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของอปท. โดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ภาพรวมของรายได้จากภาษี VAT เหลือ 3,500 ล้านบาท จากเดือนมิถุนายนที่มีรายได้กว่า 9,000 ล้านบาท หายไป 60% เหลือ 40% เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่อนุมัติให้เลื่อนการชำระภาษี VAT ได้ อย่างไรก็ตาม ต่อมาในเดือนสิงหาคม – กันยายน ทิศทางรายได้ของภาษี VAT ก็กลับมาในตำแหน่งเดิม

  ภาพรวมโครงสร้างรายได้ของ อปท. ปีงบประมาณ 2564

  โครงสร้างรายได้ประมาณการของ อปท. ปี 2564 ประกอบด้วย 1. รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง 92,100 ล้านบาท 2. รายได้ที่รัฐจัดเก็บให้ 246,313.32 ล้านบาท 3. รายได้ที่รัฐแบ่งให้ 129,139.61 ล้านบาท และ 4. เงินอุดหนุนจากรัฐ 328,051.42 ล้านบาท รายได้ของ อปท.ทั้งหมดจะอยู่ที่ 789,803.34 ล้านบาท เทียบกับรายได้สุทธิของรัฐบาล 2,677,000 ล้านบาท สัดส่วนรายได้ของ อปท. ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลในปี 64 จะเป็น 29.72 รายได้ที่ค่อนข้างแน่นอนที่สุดคือ ส่วนของเงินอุดหนุนจากรัฐ

  “หน่วยงาน” ตั้งงบประมาณของท้องถิ่น

  เงินอุดหนุนที่จัดสรรให้กับ อปท. มีทั้งที่ท้องถิ่นตั้งเอง และหน่วยงานอื่นตั้งงบประมาณให้ สำหรับ อปท.ที่ตั้งงบประมาณเอง คือ กทม. เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ส่วนเทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตั้งงบประมาณผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมีสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ตั้งงบประมาณเกี่ยวกับแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดใหญ่ เช่น ก่อสร้างระบบกำจัดขยะ ก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดสรรให้เฉพาะท้องถิ่นขนาดใหญ่ เช่น อบจ. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง รวมทั้งมีสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนสำหรับคัดเลือกท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการที่ดี ในส่วนนี้เมื่อก่อนเคยได้ถึง 500 ล้านบาท แต่ปรับลดลงจนปัจจุบันเหลือ 200 ล้านบาท ในปีนี้ปรับลดเหลือ 147 ล้านบาท

 ”การตั้งงบประมาณเอง อปท.ต้องรู้ว่ารายการที่ สถ.เคยตั้งให้มีอะไรบ้าง ทั้งภารกิจถ่ายโอน ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ และต้องรู้ว่ารายละเอียดเป้าหมายในแต่ละรายการของเงินอุดหนุน ไม่ว่าจะเป็น จำนวนเด็กนักเรียน จำนวนผู้สูงอายุ จำนวนคนพิการ ส่วนนี้ต้องใส่ในรายการให้ครบถ้วน”

แนวโน้มการจัดสรรภาษีและเงินอุดหนุนให้แก่ อปท.

  ขณะนี้เกณฑ์การจัดสรรเริ่มอิ่มตัว หลายคนเกิดคำถามว่าการจัดสรรแบบนี้ยังถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ นำไปสู่แนวคิดการนำเสนอปรับโครงสร้างการจัดสรรภาษีและเงินอุดหนุนทั้งระบบ ตนมองว่าในปีงบประมาณ 2565 เป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมที่สุดหากเห็นว่าควรมีการเปลี่ยนแปลง

  ภาษีมูลค่าเพิ่ม (1 ใน 9) ในการประชุม ก.ก.ถ. ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีให้แก่อปท. ไม่ว่าจะเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (1 ใน 9) ประมาณ 50,000 ล้านบาท ถือเป็นภาษีหลักของเทศบาล เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ถูกจัดสรรตามแหล่งกำเนิดของภาษี ดังนั้นจังหวัดที่เป็นแหล่งภาษี เช่น ภูเก็ต นนทบุรี จะได้รับการจัดสรรภาษีมากกว่าเมื่อเทียบกับต่างจังหวัด ในความเป็นจริงแล้ว ก.ก.ถ. ต้องการสะท้อนภาษีลงไปในระดับ อปท. แต่ด้วยระบบของกรมสรรพากรในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ จึงยึดระดับจังหวัดเป็นตัวตั้ง จัดสรรลงเทศบาล และ อบต. ตามจำนวนประชากร ด้านภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้า กรมสรรพสามิตและกรมสรรพากรเป็นหน่วยจัดเก็บ จัดสรรรให้กับเทศบาล อบต. ตามเกณฑ์ประชากร

  ภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ จำนวนเกือบ 50,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมี ภาษีธุรกิจเฉพาะ จำนวนเงินหลักพันล้านบาท ที่จัดสรรลง เทศบาล อบต. ตามเกณฑ์ประชากรเช่นกัน ดังนั้น ปัจจัยหลักในการจัดสรรภาษีให้ท้องถิ่น คือ จำนวนประชากรในแต่ละเขตของ อปท.

  ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ ก.ก.ถ. พยายามแบ่งภาษีให้ชัดว่า อปท.แต่ละประเภทควรเก็บภาษีชนิดใดได้บ้าง และนำส่วนภาษีที่รัฐแบ่งให้มาเป็นส่วนชดเชยเพื่อไม่ให้ อปท. แต่ละประเภทได้รับผลกระทบ สำหรับภาษีรถยนต์ในช่วงก่อนหน้านี้ยกให้ อบจ. ทั้งจำนวน แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนให้ อบจ. ได้รับ 80% และให้เทศบาล อบต. 20% และล่าสุดในปีงบประมาณ 2563 จัดสรรให้ อบจ. ได้รับเท่ากับปีงบประมาณ 2562 ซึ่งจะได้รับน้อยลงเฉลี่ยเหลือ 75% ส่วนที่เพิ่มขึ้นจัดสรรให้ เทศบาล และ อบต.ที่มีรายได้ก่อนรวมเงินอุดหนุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตามสัดส่วน สำหรับภาษีรถยนต์มีรายได้รวมทั้งประเทศประมาณ 30,000 ล้านบาท เป็นส่วนของ กทม. 10,000 ล้านบาท และกระจายให้ อปท.ทั่วประเทศ 20,000 ล้านบาท

  ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐแบ่งให้ อปท. ในปีงบประมาณ 2564 ประมาณการไว้ 129,139.61 ล้านบาท ซึ่งภาษีประเภทนี้มีการปรับเกณฑ์การจัดสรรมาโดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นการชดเชยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วงแรกที่มีการจำแนกประเภทภาษีว่าจะให้เป็นของ อปท. ประเภทใดบ้าง พบว่าเทศบาลและอบต.ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จึงจัดสรรภาษีประเภทนี้ให้ เทศบาล และ อบต.ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจึงจัดสรรให้ท้องถิ่นขนาดเล็กมากขึ้น เพื่อชดเชยและลดความเหลื่อมล้ำ

  ในการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ได้เห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางจัดสรรภาษีให้แก่ อปท.ในปีงบประมาณ 2564 เรียบร้อยแล้วดังที่ได้กล่าวว่า เหลือเพียงภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐแบ่งให้ ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากอนุกรรมการฯ ส่วนหนึ่งได้รับข้อร้องเรียนว่า มี อปท.หลายแห่งได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้น้อยลง ที่ประชุมจึงมีมติให้จัดทำข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่มที่ อปท. ได้รับจริงในปี 2563 เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา เพื่อสำรวจว่ามี อปท. ใดได้รับผลกระทบบ้าง และได้รับการจัดรายได้ลดลงเท่าใด แล้วนำข้อมูลเสนอคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณากำหนดแนวทางจัดสรรเพื่อลดผลกระทบให้กับ อปท. ต่อไป

  เงินอุดหนุนที่จัดสรรให้ อปท. ตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน สำหรับเทศบาลนครและเทศบาลเมืองไม่มีปัญหา เนื่องจากตั้งงบเองและเป็นหน่วยรับงบตรง แต่ในส่วนของเทศบาลตำบล และ อบต. งบประมาณอยู่ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่ยังไม่มีรายการในการใช้จ่าย งบในปี 2564 มีจำนวน 44,714.1490 ล้านบาท ที่ผ่านมา ก.ก.ถ. เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรให้กับเทศบาล และอบต. โดยในการประชุมครั้งล่าสุดมีมติให้ใช้หลักเกณฑ์เหมือนกับในปี 2563 แต่จำนวนเงินจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในปี 2564 ได้รับจัดสรรจากรัฐมากกว่าเดิม

รายได้ท้องถิ่นที่หายไปจาก “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

  คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรายได้ที่ อปท. จัดเก็บลดลงจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จึงเคยมีมติเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ในช่วงที่เสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย มาร่วมหารือกันถึงแนวทางลดผลกระทบดังกล่าว เสนอให้เทศบาลเมือง เทศบาลนคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตั้งเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ที่ได้รับผลกระทบ

  ในปีงบประมาณ 2564 กรมส่งเสริมได้ตั้งงบประมาณไปให้กับเทศบาลตำบล และอบต. และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณได้แปรญัตติเพิ่ม ในวงเงินประมาณ 10,067.59 ล้านบาท เพื่อนำไปลดผลกระทบจากการเก็บภาษีที่ดินฯ ของเทศบาลตำบล และ อบต. ด้านเทศบาลนครและเทศบาลเมือง มีเพียงบางแห่งที่ตั้งของบประมาณเข้าไป คาดว่าที่ไม่ได้ตั้งอาจจะไม่ทราบข้อมูล ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ว่าจะจัดสรรงบประมาณให้ อปท. ส่วนที่เหลือทั้งหมดได้อย่างไร รวมทั้ง กทม. และเมืองพัทยาด้วย

  จึงมีการพิจารณาจากข้อมูลการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่เดิมที่เคยเก็บได้จำนวน 36,527.356 ล้านบาท จาก อปท. 7,776 แห่ง เปรียบเทียบกับประมาณการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหากเก็บได้เต็มจำนวน จะเก็บได้เพียง 19,152,116,799 ล้านบาท มี อปท. ที่ได้รับผลกระทบ 6,631 แห่ง จำนวนเงินหายไป 17,863.88 ล้านบาท ซึ่ง กทม. ได้รับผลกระทบมากที่สุดรายได้รายหายไป 7,660.58 ล้านบาท เทศบาลนคร 2,127.6 ล้านบาท เทศบาลเมือง 2,108.72 ล้านบาท เทศบาลตำบล 2,830.06 ล้านบาท อบต. 2,874.71 ล้านบาท และเมืองพัทยา 262.18 ล้านบาท

  ผลของการบังคับใช้ พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท 90% ทำให้ อปท.จะสามารถจัดเก็บรายได้เพียง 3,176.53 ล้านบาท รายได้ภาษีส่วนนี้หายไป 33,350.53 ล้านบาท เมื่อพิจารณาตามประมาณการรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง ตามที่สำนักงบประมาณ ประมาณการไว้  115,990 ล้านบาท ท้องถิ่นจะเก็บได้เพียง 62,648.12 ล้านบาท ส่วนที่ขาดไปคือรายได้ที่รัฐต้องชดเชยให้ท้องถิ่นทั้งสิ้น 53,341.88 ล้านบาท (หากจะคงสัดส่วนรายได้ อปท. 29.43%)

  แนวทางการชดเชยรายได้ที่หายไปจาก “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง”

  รายได้ที่รัฐต้องชดเชยให้ท้องถิ่นทั้งสิ้น 53,341.88 ล้านบาท มีการเสนอมาตรการชดเชยรายได้ในระยะ 3 ปี โดยในปีแรก (2564) ให้เสนอของบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 32,585 ล้านบาท แต่เนื่องจากเทศบาลตำบลและ อบต. จำนวน 5,934 แห่งได้รับงบประมาณแปรญัตติเพิ่ม ในวงเงิน 10,067.59 ล้านบาทไปแล้ว ดังนั้น การเสนองบกลางในปี 2564 จึงเหลือเงินชดเชย 22,517 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 20,756 ล้านบาท ให้เสนอตั้งงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ในปี 2565-2566 ปีละ 10,378 ล้านบาท

  “เบื้องต้นสำนักงบประมาณไม่ได้ขัดข้องแนวทางที่เสนอไป แต่ในด้านของวงเงินต้องรอสำนักงบฯ พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่ง ก.ก.ถ. จะรีบเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบหลักการดังกล่าว”

  การถอดรายการเงินอุดหนุน อสม. ออกจากสัดส่วนรายได้ของ อปท.

  ท้องถิ่นเรียกร้องให้ถอดรายการเงินอุดหนุนเพื่อสนันสนุนการดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกจากรายการเงินอุดหนุนที่จัดสรรให้เป็นรายได้ของ อปท. ในแต่ละปีงบประมาณส่วนนี้ตั้งไว้ที่ อบจ. ประมาณ 12,000 ล้านบาท แต่ อปท.ไม่มีบทบาทในการบริหารจัดการ เป็นเพียงทางผ่านในการส่งงบประมาณเท่านั้น จึงมีการเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่ขอตั้งงบประมาณรายการนี้ด้วยตนเอง ขณะนี้ผ่านการร่วมหารือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงรอเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบเท่านั้น

แนวทางการเสนอจัดสรรเงินอุดหนุน อปท. ปีงบประมาณ 2565

  ตามกำหนดเวลา ขณะนี้เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ควรเริ่มดำเนินการตั้งงบประมาณ และภายในเดือนมกราคม 2564 ต้องเสนองบประมาณไปสำนักงบประมาณแล้ว ด้านเทศบาลตำบลยังไม่มีสัญญาณในการขอตั้งงบประมาณเอง

  สำหรับอปท.ที่ต้องรับงบผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นนั้น จะได้รับการจัดสรรโดย ก.ก.ถ. ซึ่งขณะนี้อยู่ในชั้นของคณะอนุกรรมการด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ดำเนินการพิจารณาแนวทางการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่ม ประเภทเงินอุดหนุน 2 ส่วนได้แก่ เงินอุดหนุนทั่วไป และเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ โดยให้มีการจัดสรรเพิ่มขึ้นจากปี 2564 สำหรับท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กทม. – เมืองพัทยา – อบจ.และอบต. ระหว่างกลุ่มต้องมีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นที่เท่าเทียมกัน

  กทม. และเมืองพัทยา ได้ส่งคำขอตั้งงบประมาณไปยังสำนักงบประมาณโดยตรง เพื่อพิจารณารายละเอียดงบประมาณที่เหมาะสมในกรอบวงเงินที่ กทม. และ เมืองพัทยาได้รับจัดสรร

  อบจ. เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง เสนอขอตั้งงบประมาณ 3 ส่วน ได้แก่ 1.เงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่และภารกิจถ่ายโอน 2. เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ 3. เงินอุดหนุนเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำหรับเงินอุดหนุนทั่วไปตามอำนาจหน้าที่ จัดสรรเท่ากันทุกแห่งร้อยละ 30 จัดสรรตามจำนวนประชาการร้อยละ 15  จัดสรรตามพื้นที่ร้อยละ 15 และจัดสรรตามรายได้ผกผัน (ได้รายมากให้น้อย รายได้น้อยให้มาก) ร้อยละ 40 ภายใต้ข้อแม้เทศบาลต้องได้รับไม่น้อยกว่าเดิม

  เทศบาลตำบล และ อบต. ให้ตั้งผ่านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับ อบต. ก.ก.ถ.จะตั้งในสัดส่วนเดียวกับ อบจ. เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง โดยประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปรายการที่อปท. มีอิสระ มีข้อแม้ให้ตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ในส่วนของเทศบาลตำบล (ในการประชุมครั้งล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุป) ขอให้หารือร่วมกันและส่งมติข้อตกลงไปยังที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ

  เงินอุดหนุนที่ตั้งโดยหน่วยงานอื่นได้แก่ 1. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งขึ้นเป็นเงินอุดหนุนในการสร้างแรงจูงใจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการท้องถิ่น 2. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการตามแผนปฏิบัติการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัด

“ร่าง พ.ร.บ.รายได้ อปท.” ถูกสกัดจากหลายทิศทาง

  ก.ก.ถ.มีมติเสนอ ร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. … เพื่อปรับโครงสร้างรายได้ของท้องถิ่นใหม่ โดยจะเปลี่ยนรายได้ภาษีของรัฐบางประเภทมาเป็นของท้องถิ่น อาทิ ค่าจดทะเบียนนิติกรรมที่ดิน ภาษีรถยนต์ ภาษีที่รัฐจัดเก็บให้ท้องถิ่นจากเดิมร้อยละ 10 ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 30 ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดสรร 1 ใน 9 และจัดสรรให้บางส่วน จะเปลี่ยนเป็นจัดสรร 3 ใน 7 เป็นต้น แต่ถูกหลายส่วนราชการเห็นแย้ง เช่น สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ฯ  ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งให้รับความเห็นหรือข้อเสนอของส่วนราชการอื่นมาพิจารณาให้ได้ข้อยุติ แล้วจึงเสนอ ครม.อีกครั้ง “ขอยืนยันว่าทางสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ ยินดีช่วยเหลือสนับสนุนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ ตามกำลังความสามารถ”

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]