วันที่ 29 ตุลาคม 2562 นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด เรื่อง แจ้งเพิ่มเติมรายชื่อบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ โดยระบุว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับแจ้งจากการยางแห่งประเทศไทยว่า คณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราฯ ได้พิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ เพิ่มเติมจำนวน 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี จึงขอให้จังหวัดแจ้งไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปใช้ประโยชน์สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราต่อไป
ซึ่งขณะนี้ มีบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานโดยการยางฯ แล้วรวม 7 บริษัท ได้แก่ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด (นนทบุรี), บริษัท สยามนวกรรม จำกัด (นนทบุรี), บริษัท ไทยอีลาสโตพาร์ท จำกัด (นนทบุรี), บริษัท ซีโก้แอสฟัลท์ จำกัด (สุพรรณบุรี), บริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด (ชลบุรี), บริษัท เอส.พี.ก่อสร้างรุ่งเรือง จำกัด (ฉะเชิงเทรา) และล่าสุดที่เพิ่มเข้ามาคือ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาขาชลบุรี
และมีอีก 4 บริษัทที่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณา ได้แก่ บริษัท สยาม ยูนิเวอร์แซล เน็ตเวิร์ค จำกัด (เชียงราย), บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาขาสุราษฎร์ธานี, บริษัท เอเชียนแอสฟัลท์ จำกัด (ลำปาง), บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็กซ์กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) สาขาระยอง
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าว ข้าราชการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน 3 ราย โดยออกใบอนุญาตให้ 3 บริษัท ซึ่งตามหลักฐานการจดทะเบียนของกระทรวงพาณิชย์ ปรากฎว่ามีเจ้าของและผู้บริหารเป็นคนกลุ่มเดียวกัน สำนักงานใหญ่ หรือ สำนักงานสาขาก็ตั้งอยู่ที่เดียวกัน
เมื่อพิจารณาจากวันอนุมติของการยางฯ จะพบว่า 3 บริษัทแรกที่ผ่านการรับรองได้แก่ บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น จำกัด (นนทบุรี), บริษัท สยามนวกรรม จำกัด (นนทบุรี), บริษัท ไทยอีลาสโตพาร์ท จำกัด (นนทบุรี) ได้รับการรับรองวันเดียวกัน คือวันที่ 3 พฤษภาคม 2562
ต่อมาวันที่ 13 สิงหาคม 2562 นายบุญชู ประสังศิต ตัวแทนผู้รับเหมาทำถนนจากยางพารา พร้อมตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยาง รวม 15 คน เข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ดำเนินการกับข้าราชการการยางแห่งประเทศไทยบางรายที่ร่วมมือกลุ่มทุน ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรมในการยื่นเสนอราคา
โดยตัวแทนผู้รับเหมา ระบุว่า หน่วยงานราชการบางหน่วยงาน ได้ออกประกาศราคาจ้างเหมาโครงการก่อสร้างถนนผิวจราจรดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้เสนอราคาและร่างขอบเขตงาน หรือ TOR ที่จะต้องแนบเอกสารรับรองมาตรฐานวัสดุและคุณสมบัติน้ำยาง ที่ออกโดยการยางฯ ซึ่งผูกขาดเพียงสามบริษัท ส่งผลให้ราคาไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ดีดตัวขึ้นจากลิตรละประมาณ 50 บาทเป็น 85 บาท ทำให้ผู้รับเหมาต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นลง อาจส่งผลให้คุณภาพถนนต่ำลง และไม่เกิดประโยชน์แก่เกษตรกรอย่างที่ตั้งใจ
ภายหลังมีบริษัทที่ได้รับการรับรองมาตรฐานเพิ่มขึ้นอีก 2 ราย ในวันที่ 23 สิงหาคม คือ บริษัท ซีโก้แอสฟัลท์ จำกัด (สุพรรณบุรี) และบริษัท ไทยอีสเทิร์น รับเบอร์ จำกัด (ชลบุรี) และอีก 1 ราย ในวันที่ 19 กันยายน คือ บริษัท เอส.พี.ก่อสร้างรุ่งเรือง จำกัด (ฉะเชิงเทรา)
อย่างไรก็ตาม ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงมหาดไทย (ศปท.) เคยออกหนังสือบันทึกข้อความเพื่อแจ้งต่อ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำหรับแจ้งต่อ อปท. ทั่วประเทศ สำหรับเป็นแผนประเมินความเสี่ยงภายใต้โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราธรรมชาติ สำหรับงานถนนท้องถิ่น โดยนำเสนอว่าในแต่ละขั้นตอนของการจัดทำโครงการ มีโอกาสหรือข้อสังเกตจุดใดที่เสี่ยงต่อการทุจริต รวมทั้งเสนอแนวทางป้องกันและแก้ไขเบื้องต้นให้ อปท. ทราบ (อ่านเพิ่มเติมแผนประเมินความเสี่ยงโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร)