นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เข้าร่วมงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “20 ปี ปัญหาขยะประเทศไทยหมดไป ด้วยกลไกตลาดทุน” โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดงาน และมี ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยนายสุทธิพงษ์ ได้กล่าวถึงปัญหาขยะของประเทศไทยว่า ปัญหานี้ถือเป็นวาระของชาติ ที่ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลัก ในการขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งท่านพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็ได้ดำเนินการขับเคลื่อนโดยมีการกำหนดแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” ขึ้น
นโยบายด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและขยะมูลฝอยแบบยั่งยืนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องเริ่มจากภายในหน่วยงาน เพื่อการเป็นแบบอย่างที่ดีก่อนถ่ายทอดนโยบายสู่ประชาชน โดยให้ อปท. สร้างรูปแบบการจัดการขยะที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ภายใต้หลัก”ประชารัฐ” ซึ่งเป็นการสร้างความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ด้วยการถ่ายทอดความรู้ การปลูกฝังจิตสำนึก การสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อการเฝ้าระวังและรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนต้องตระหนักรู้นั่นคือ คน เป็นผู้ก่อให้เกิดขยะ ดังนั้น การเสริมสร้างจิตสำนึกในตัวเรา คือจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะ Change for Good เปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า เพื่อโลกของเราที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
โดยนำหลักการ 3Rs หรือ 3ช : Reduce (ใช้น้อย) Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่) ไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการขยะต้นทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำการคัดแยกขยะเศษอาหารหรือขยะเปียกออกจากขยะทั่วไป และยังมี “แผนรณรงค์ แยกก่อนทิ้ง” ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนร่วมสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ให้เกิดการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะในครัวเรือน ให้หมู่บ้าน / ชุมชนมีการจัดการและคัดแยกขยะตามประเภทได้อย่างถูกต้อง อปท. ทุกแห่งมีการจัดทำสัญลักษณ์แยกประเภทขยะ และให้มีการจัดเตรียมถังขยะในพื้นที่สาธารณะให้ครบอย่างน้อย 2 ประเภท (ขยะทั่วไป – ถังสีน้ำเงิน และขยะรีไซเคิว – ถังสีเหลือง) ทั้งยังให้ อปท. ทุกแห่งมีการประกาศกำหนดวันเวลาในการเก็บขนขยะแยกตามประเภทด้วย
นายสุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า สำหรับอีกหนึ่งในหนทางการแก้ไขที่สามารถทำได้ทันที คือ การจัดทำถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกประจำครัวเรือนและชุมชนให้ได้มากที่สุด ซึ่งท่าน ดร.ปฤถา พรหมเลิศ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ได้มีดำริให้จัดทำ “ถังขยะอินทรีย์หรือถังขยะเปียกครัวเรือน” เริ่มจากจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นลำดับแรก และขยายผลไปยังส่วนราชการต่างๆ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้สานต่อแนวทางดังกล่าวต่อไปยังสถานศึกษา โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในสังกัด อปท. และศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน รวมไปถึงครัวเรือนของข้าราชการ ผู้บริหาร อปท. ครัวเรือนสมาชิกสภา อปท.ครัวเรือนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และครัวเรือนของพี่น้องประชาชน เพื่อคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะเปียกครัวเรือน ไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำปุ๋ย สำหรับปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งกรมฯ มีเป้าหมายให้ทุกครัวเรือนมีถังขยะเปียกให้ครบ 100% ภายในเดือนเมษายน 2562 นี้
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ชมรมแม่บ้านกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ชมรมแม่บ้านท้องถิ่นไทยจังหวัด และสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดทำโครงการวิจัยการประเมินและรับรองผลการบริหารจัดการขยะเศษอาหารตามแนวทางการทำถังขยะเปียกในการช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยเทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้มีการดำเนินการวิเคราะห์อัตราการเกิดขยะเศษอาหารต่อคนต่อวันของคนไทย โดยลงพื้นที่ 5 จังหวัด ซึ่งเป็นตัวแทนภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือจังหวัดลำพูน ภาคกลางจังหวัดลพบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย และจังหวัดยโสธร และภาคใต้จังหวัดสงขลา โดยเก็บตัวอย่างวัดปริมาณขยะจริงของครัวเรือนที่ร่วมโครงการ รวมถึงเก็บตัวอย่างในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยอัตราการเกิดขยะเศษอาหารที่สามารถใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในการลดภาระการบริหารจัดการขยะของส่วนรวมและสร้างมูลค่าเพิ่มจากสารปรับปรุงดินที่ได้จากการหมักขยะเศษอาหารในถังขยะเปียก ซึ่งในอนาคตการจัดทำถังขยะเปียกครัวเรือนสามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงได้จากการดำเนินโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อน หากได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองเพื่อพัฒนาคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำเร็จ ก็จะสามารถมีรายได้ในอนาคตกลับคืนสู่ชุมชนอย่างแน่นอน
ต้องขอฝากให้ผู้บริหารและทุกท่านในสังคมได้เข้าใจร่วมกันว่า ไฟฟ้าจากขยะไม่ใช่ธุรกิจ แต่เป็นการช่วยรักษาโลกให้มีอายุยืนยาว เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของความรับผิดชอบร่วมกันของทุกคนที่ทำให้เกิดขยะ เราต้องช่วยกันจ่ายค่ากำจัดขยะผ่านค่าไฟฟ้า ซึ่ง อปท. ทั้ง 7,852 แห่ง รวม กทม.สามารถเก็บค่ากำจัดขยะจากทุกครัวเรือนได้ถึงเดือนละ 102 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่พอเพียงต่อการกำจัดขยะ แต่ในความจริงแล้ว ก็ยังไม่มี อปท.ไหนเก็บได้ในอัตรานั้น