กทม.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่มีรายได้มหาศาล เฉียดแสนล้านบาทเข้าไปทุกที ทว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่มีต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกและของประเทศไทยหดตัวลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว กระทบต่อประชาชนทุกสาขาอาชีพในวงกว้าง ประกอบกับนโยบายลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของรัฐบาล ที่กำหนดให้เก็บภาษีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้โดยรวมของ กทม. ลดลดเป็นอย่างมาก
แหล่งรายได้ของ กทม. มีทั้งจากที่เก็บเอง อาทิ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีป้ายโฆษณา จากรายได้ที่มาจากหน่วยงานอื่นเก็บให้ อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีนํ้ามัน ภาษียาสูบ ภาษีสุรา ภาษีการพนัน ภาษีและค่าธรรมเนียมรถยนต์ ภาษีธุรกิจเฉพาะภาษีและค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นต้น
เดิมในปี 2563 กทม. ตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 83,000 ล้านบาท ก่อนจะเจอกับวิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องปรับลดเป้าจัดเก็บลงเกือบ 20% คิดเป็นเงินราว 15,000 ล้านบาท เหลือเป้าจัดเก็บอยู่ที่ 68,000 บาท
ต่อมาในปี 2564 เดิมจากที่เคยตั้งเป้าไว้ 85,000 บาท ปรับลดลงมาเหลือ 75,500 บาท เป็นส่วนที่ กทม. เก็บเอง 12,000 ล้านบาท และหน่วยงานอื่นจัดเก็บให้ 63,500 บาท แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังทรุดลงทุกขณะ ทำให้คาดว่า กทม.เก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าอีกราว 8,000 ล้านบาท หรือเก็บได้ประมาณ 67,500 ล้านบาท เท่ากับในปี 2563
รายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้า ทำให้ กทม. ต้องลดทอนรายจ่ายซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน โดยรายจ่ายที่สำคัญ อาทิ การบริหารจัดการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย การเลื่อนจัดเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ซึ่งเดิมกำหนดให้จัดเก็บในอัตราใหม่ จาก 40 บาท เป็น 80 บาท แต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้กรุงเทพมหานครต้องรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ทั้งหมด
ทำให้ล่าสุด กทม. ชงขอสภาฯ ใช้เงินสะสมที่มีอยู่ 66,000 ล้านบาท โดยอยู่ระหว่างพิจารณาญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … เพื่อขอจ่ายขาดเงินสะสมราว 12,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการบริหารงานและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน
ในส่วนของงบประมาณปี 2565 กทม. ได้ตั้งประมาณการไว้ราว 78,000 หมื่นล้านบาท เนื่องจากคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มมากกว่าปี 2564 ประมาณ 2,000 ล้านบาท เป็นงบรายจ่ายประจำเกี่ยวกับบุคลากรประมาณ 29,000 ล้านบาท งบลงทุนใหม่ประมาณ 12,000 ล้านบาท และใช้สำหรับดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนา กทม. ทั้ง 7 ด้าน 21,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1. ด้านมหานครปลอดภัย 17,900 ล้านบาท 2. ด้านมหานครสีเขียวสะดวกสบาย 1,690 ล้านบาท 3. ด้านมหานครกระชับ การปรับตัวตามผังเมือง และการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง 170 ล้านบาท 4. ด้านมหานครสำหรับทุกคน การอำนวยความสะดวกและการจัดการศึกษา 86 ล้านบาท 5. มหานครประชาธิปไตย 175 ล้านบาท 6. ด้านมหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ 195 ล้านบาท และ 7. ด้านการบริหารจัดการเมืองมหานคร 1,109 ล้านบาท
สำหรับรายจ่ายที่คาดว่าจะกระทบกับการคลังของ กทม. หนักที่สุด ยอดหนี้กว่า 30,000 ล้านบาทที่ต้องจ่ายให้กับ BTSC บริษัทเอกชนที่รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย สะพานตากสิน-บางหว้า, ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต, ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่ง กทม. ค้างชำระมาเกือบ 4 ปี
ด้าน สภาฯ กทม. มีมติไม่ให้ใช้เงินสะสมจ่ายหนี้ก้อนนี้ กทม. จึงต้องขอแรง ครม. ในการตัดสินใจว่าจะขอยืดภาระนี้ออกไปแลกกับการขยายสัมปทานต่ออีกหลายสิบปีจะได้หรือไม่