ผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) วันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่มีมติ ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนจังหวัด (อบจ.) เว้นแต่มีเหตุจำเป็น และจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ถูกกล่าวถึงเป็นอย่างมาก ด้วยมีมติออกมาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเปิดให้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายก อบจ. เพียง 4 วัน
โฆษกพรรคพปชร.ให้เหตุผลว่า เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในตัวบทกฎหมาย อาจจะมีข้อจำกัดในการส่งผู้สมัครในนามพรรค ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 34 ที่ระบุว่าข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กระทำการใดใดโดยมิชอบด้วยหน้าที่ และอำนาจอันเป็นการกลั่นแกล้งผู้สมัครใด หรือดำเนินการใดใด ที่เป็นคุณ หรือเป็นโทษ แก่ผู้สมัครใดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมาย มีอำนาจสั่งให้ยุติ หรือระงับการกระทำนั้นได้
ในวันเดียวกันพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ก็ได้ทำหนังสือถึงสำนักกฎหมายและคดี กกต. เพื่อสอบถามความชัดเจนของข้อปฏิบัติตัวของข้าราชการการเมืองและพรรคการเมืองในการลงไปช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งนายก อบจ. และส.อบจ. สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งยังคงรอ กกต.ตอบกลับมา คาดว่าจะได้คำตอบภายใน 1-2 วัน
สวนทางกับความตื่นตัวของ ส.ส.ในแต่ละพื้นที่ของพรรค พปชร. ที่แสดงออกถึงความต้องการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น จากการจัดประชุมระดับหัวหน้าภาคทั้ง 9 ภาคของพรรค พปชร. เมื่อวันที่ 8 ต.ค. เพื่อรับฟังแนวทางส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. ท่ามกลางความคาดหวังว่า การแก้ปัญหาช่วงโควิด-19 และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นที่ถูกใจของประชาชน และส่งผลต่อภาพลักษณ์ทางบวกของผู้สมัครในสนามท้องถิ่น
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีและผู้บริหารในพรรคหลายคนออกมาพูดถึงในทิศทางคล้ายกัน แต่เป็นไปในลักษณะแบ่งรับแบ่งสู้ ระบุว่าบางพื้นที่อาจจะลงรับสมัครในนามพรรค หรือบางพื้นที่ลงในนามอิสระ หรือกลุ่มของตัวเองก็เป็นไปได้
แม้ว่ามติพรรคจะผ่าเปรี้ยงดับฝัน ส.ส.ที่เตรียมก๊กเตรียมเหล่าเอาไว้ในศึกชิงนายก อบจ.ครั้งนี้แล้ว แต่ทว่าคำต่อท้าย “เว้นแต่มีเหตุจำเป็น และจะนำมาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง” เหมือนการปิดประตูที่เสียบกุญแจทิ้งเอาไว้ พร้อมจะเปิดช่องให้หาก กกต.เปิดทางให้ข้าราชการการเมืองหรือนักการเมืองลงไปช่วยท้องถิ่นหาเสียงได้
นายอนุชา นาคาศัย รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขาธิการพรรค พปชร. ตอบแบบแทงกั๊กเมื่อถูกถามถึงกรณีนี้ว่า หาก กกต.เปิดช่องพรรคจะมีการทบทวนหรือไม่นั้น “ตามบริบทค่อยคุยกันอีกที แต่ตอนนี้พรรคต้องมีมติไปส่วนหนึ่งก่อน เพื่อหยุดในเรื่องของกระแส”
นอกจากเหตุผลเรื่องข้อกฎหมายแล้ว ในฐานะพรรคผู้นำการจัดตั้งรัฐบาล อาจจะต้องจัดการเคลียร์ใจหลังบ้านกับพรรคร่วมอีก 2 พรรค ทั้ง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ในฐานะพรรคเก่าแก่ที่ยึดโยงแต่ละพื้นที่ในท้องถิ่นมานาน ด้วยการเมืองท้องถิ่นที่สร้างฐานเสียงกันมารุ่นต่อรุ่น ในลักษณะเครือญาติและตระกูล ซึ่งแน่นอนว่า 2 พรรคเก่าจับจองพื้นที่ส่วนหนึ่งเอาไว้ หากพปชร.จะโดดลงไป คงต้องจัดสรรพื้นที่กันให้ลงตัว เพราะอาจสะเทือนถึงความมั่นคงในการเกาะกลุ่มกันของพรรคร่วมได้
อีกทั้ง ในการเลือกตั้ง อบจ. ซึ่งเป็นสนามแรกของการเลือกตั้งท้องถิ่น หลังจากถูกคำสั่ง คสช.แช่แข็งมานานกว่า 6 ปี กำลังถูกจับตามองจากคนทั้งประเทศ ประกอบกับการชุมนุมทางการเมืองที่เริ่มทวีความร้อนแรงมากขึ้น การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนตัวชี้วัดกระแสความนิยมล่าสุดของทางรัฐบาล ว่าจะอยู่ใน “ขาขึ้น” หรือ “ขาลง” พรรค พปชร.เองก็คงยังไม่อยากเสี่ยงวัดกระแสกันในช่วงที่รัฐบาลถูกสั่นคลอนอย่างหนักเช่นนี้