close

หน้าแรก

menu
search

กฎหมายล้าหลัง ทำท้องถิ่นถดถอย

schedule
share

แชร์

          สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดการประชุมและการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 1/2567 ประจำปี พ.ศ.2567 ระหว่างวันที่ 4 – 6 มกราคม 2567 เพื่อพัฒนาบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่

          โดยภายในงานมีการเสวนา เรื่อง “ปลดล็อกท้องถิ่น กระจายอำนาจสู่การพัฒนาเมือง และคุณภาพชีวิตประชาชน” ซึ่งผู้ร่วมเสวนา ได้แก่พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง รองประธานมูลนิธิก้าวหน้า นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา และตัวแทนกรรมการผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายเสกสรร พหลเวชช์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานระบบพัสดุกรมบัญชีกลาง

          อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง รองประธานมูลนิธิก้าวหน้า อธิบายว่า “Decentralization” มีรากศัพท์จากคำว่า de คือ ยุติหรือเลิก รวมกับคำว่า centralization คือ การรวมศูนย์ ฉะนั้น คำว่า Decentralization ในความหมายที่ถูกต้องคือ คำว่า “ยุติการรวมศูนย์” แต่ที่ผ่านมากลับไปใช้คำว่า “การกระจายอำนาจ” ซึ่งไม่ตรงกับความหมายที่แท้จริง เพราะถ้าใช้คำว่ากระจายก็จะหมายถึง “การให้” หรือ “หยิบยื่นให้” ตรงข้ามกับคำว่า “คืน” (ที่ไปเอาของเขามา) หรือ “ยุติ” และยิ่งมีคำว่า “อำนาจ” เข้าด้วยแล้ว ยิ่งคลาดเคลื่อนเพราะบางประเภทของ Decentralization ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจแม้แต่น้อย

          อย่างไรก็ตาม เมื่อเราคุ้นชินกับคำว่าการกระจายอำนาจแล้ว ตนจะใช้คำว่าการกระจายอำนาจต่อไปโดยใช้ควบคู่กับคำว่าการยุติรัฐรวมศูนย์หรือใช้คำว่า “การกระจายอำนาจ” เพื่อให้ตรงกับความหมายที่แท้จริง ทั้งนี้ การกระจายอำนาจ หรือ การยุติรัฐรวมศูนย์ (Decentralization) คือ การถ่ายโอนอำนาจหน้าที่หรือความรับผิดชอบทางการบริหารในภารกิจสาธารณะจากรัฐบาลกลางสู่ระดับล่างหรือองค์กรอิสระที่เสมือนรัฐบาล หรือองค์กรเอกชน

          โดยรูปแบบการกระจายอำนาจ แบ่งออกเป็น 6 รูปแบบ คือ การกระจายอำนาจทางการเมือง (Political Decentralization) เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การแก้ไขกฎหมาย การก่อตั้งหน่วยปกครองท้องถิ่นรูปแบบใหม่ การกระจายอำนาจทางการบริหาร (Administrative Decentralization) แบ่งเป็น 3 ดีกรี ดังนี้ การแบ่งอำนาจ หรือ ราชการส่วนภูมิภาค ถือว่าเป็นการกระจายอำนาจที่อ่อนที่สุด การมอบอำนาจ คือ การมอบให้ท้องถิ่นไปทำ แต่ความรับผิดชอบยังอยู่ที่ผู้มอบอำนาจ และการโอนอำนาจ ขั้นสุดของการการกระจายอำนาจทางการบริหาร (การมอบอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเองทั้งหมด) การกระจายอำนาจทางการคลัง (Fiscal Decentralization) และเศรษฐกิจการตลาด (Economic or Market Decentralization) การแปรรูปกิจการของรัฐไปยังภาคเอกชน (Privatization) เป็นเรื่องที่รัฐโอนความรับผิดชอบให้กับองค์กรที่สมัครใจ หรือเป็นการอนุญาตให้ดำเนินการโดยองค์กรเอกชน และการยกเลิกหรือลดกฎระเบียบ (Deregulation)

          ชำนาญ กล่าวต่อว่า ช่วงกลางปี 2566 ที่ผ่านมา ตนมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย และชมรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น รพ.สต. ชมรมปลัด ชมรมนายช่างโยธา จากทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน พบว่าปัญหาที่ท้องถิ่นกำลังประสบอยู่นั้น เกิดจากกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งอำนาจของฝ่ายบริหารสามารถทำได้ทันทีไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล

          ทั้งนี้ ภาพรวมกฎหมายที่รัฐบาลต้องแก้ไข ประกอบด้วย พระราชบัญญัติ/พระราชกำหนด 42 ฉบับ มติคณะรัฐมนตรี 1 ฉบับ ระเบียบกระทรวง 24 ฉบับ กฎกระทรวง 3 ฉบับ ประกาศกระทรวงการคลังและมหาดไทย 2 ฉบับ ประกาศกรรมการกลาง 9 ฉบับ หนังสือซักซ้อม 1 ฉบับ และประกาศ 3 .ก. 1 ฉบับ

          ชำนาญ กล่าวอีกว่า ความเห็นของฝ่ายวิชาการ หรือฝ่ายปฏิบัติ ได้ตั้งข้อสงสัยทำไมท้องถิ่นต้องขออนุญาตออกนอกเขตจากผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งที่ อปท. ไม่ได้สังกัดราชการส่วนภูมิภาค ตามรัฐธรรมนูญ หรือการควบคุมดูแลตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวเพียงให้กำกับดูแลให้ทำตามกฎหมาย ไม่ใช่การควบคุมบังคับบัญชา หรือสั่งการ

          “เพื่อความชัดเจนผมได้ย้ำอยู่เสมอว่า อปท. ไม่ได้สังกัดกระทรวงมหาดไทย หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อปท. ทุกแห่งสังกัดตนเอง โดยมีนายกของ อปท. นั้น ๆ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด” ชำนาญ กล่าว

          นอกจากนี้ เหตุผลที่กฎหมายหลายฉบับของท้องถิ่นยังไม่ผ่านสภา เพราะไม่มีใครเสนอ ไม่มีใครอยากเสนอลดอำนาจตนเอง ถ้าท้องถิ่นมีงบประมาณท้องถิ่นมีอำนาจเต็ม ท้องถิ่นก็ไม่ไปหา ส.ส. ฉะนั้น กฎหมายจึงไม่ได้ผ่านสภา เสนอเข้าไปก็ถูกตีตก เนื่องจากหวั่นว่าลำดับอำนาจจะถูกเปลี่ยนแปลง

          ด้าน พลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวว่า การกระจายอำนาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน โดยยึดมั่นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือ ฐานรากของประชาธิปไตย การเลือกตั้ง คือ หัวใจของการกระจายอำนาจ การกระจายอำนาจ คือ รากฐานของระบอบประชาธิปไตย จากการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นเกิดจากความไม่สมบูรณ์ของกฎหมาย ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับท้องถิ่นเองและหน่วยงานต่าง ๆ ที่ทำงานร่วมกัน

          ดังนั้น การผลักดันการกระจายอำนาจการบริหารงานของ อปท. ถ้าจะทำให้สมบูรณ์จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ เพื่อผลักดันการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. ไม่ว่าจะเป็น ร่าง พ.ร.บ. กำหนดกรอบและเป้าหมายการจัดทำบริการสาธารณะของ อปท. พ.ศ. … , ร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขให้เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจฯ จำนวน 9 ฉบับ และร่างแผนการกระจายอำนาจ อปท. และการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 3 ซึ่งเป็นฉบับที่สำคัญมาก

          พลเอก เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) ได้ใช้ประกาศ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ที่อยู่ในอำนาจของ ก.ก.ถ. เอื้อการทำงานของ อปท. ให้สามารถเดินหน้าไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี (สอน.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมาสามารถถ่ายโอนให้แก่ท้องถิ่นได้เพียง 80 แห่ง แต่ในปี 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการถ่ายโอนไปแล้วกว่า 3,263 แห่ง แต่ก็ทำให้ท้องถิ่นต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องงบประมาณที่ได้รับประมาณครึ่งหนึ่งของที่จะต้องใช้ และเรื่องบุคลากร ซึ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องยังมีข้อทักท้วงถึงระเบียบในการถ่ายโอนต่าง ๆ

          อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นมีสถานการณ์ดีขึ้นมาก โดยรวมถึงประกาศ เรื่อง กำหนดกิจการที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของ อปท. ด้านการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง และประกาศ เรื่อง กำหนดกิจการที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของ อปท. ด้านการคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การบริหารงานของ อปท. นั้น ก.ก.ถ. ได้แก้ปัญหา โดยใช้ประกาศต่าง ๆ ในการเอื้อให้ อปท. สามารถดำเนินภารกิจต่อไปได้

          สำหรับการผลักดันการกระจายอำนาจการบริหารการคลังของ อปท. ใน พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ พ.ศ.2542 กำหนดให้ อปท. มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ที่ผ่านมารายได้ของ อปท. ไม่มีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็นบางปีมีอัตราลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกระจายอำนาจทางการคลังให้แก่ อปท. อย่างมาก โดย ก.ก.ถ. ได้ออกประกาศต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น เช่น ประกาศ ก.ก.ถ. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรภาษีให้แก่ อปท. ประกาศ ก.ก.ถ. กำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่ อปท. และการเสนอมาตรการการกระจายอำนาจทางการคลัง

          “การกระจายอำนาจขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญของไทยเขียนไว้อย่างกว้าง ๆ โดยไม่ได้กำหนดข้อบังคับว่าสิ่งใดทำได้ทำไม่ได้ เพียงแต่กล่าวว่า ถ้าเหมาะสมและมีงบประมาณเพียงพอก็สามารถทำได้” เลิศรัตน์ กล่าว

          ขณะที่ตัวแทนผู้บริหารท้องถิ่น นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า หากพิจารณาจาก พ.ร.บ. ของท้องถิ่น เช่น พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 นับจนถึงวันนี้ประเทศไทยมีการใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้มาแล้วกว่า 71 ปี สิ่งหนึ่งที่สามารถเห็นได้จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ เราไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงของอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันการจัดทำบริการสาธารณะพื้นฐานไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นทุกวันได้อีกต่อไป

          ปัจจุบันความต้องการของประชาชนจะเริ่มจากปัจจัย 4 และค่อย ๆ ไต่ระดับจนถึงความต้องการขั้นสูงสุด ที่เรียกว่า การบรรลุเป้าหมายและการมีชีวิตตามอุดมคติ (Self – actualization) แต่เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอด 71 ปี พ.ร.บ ดังกล่าว เปรียบเสมือนถนนที่ยังเป็นดินแดง ทำให้ประชาชนยังขาดปัจจัย 4 ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพตนเอง

          พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า ต้องก้าวข้ามบริการสาธารณะและเน้นที่ “การอยู่ดีกินดี (Wellness)” และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ใประเทศได้อย่างคุ้มค่า นี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ยกตัวอย่าง เทศบาลนครยะลา ที่มีวิสัยทัศน์ อยากเป็นสิงคโปร์แห่งที่ 2 เพราะสิงคโปร์เดิมทีเป็นประเทศที่ไม่มีทรัพยากร แต่เขาสร้าง “คน” จนทำให้ประเทศเติบโตจนมั่งคั่ง ยะลาเองที่มีทรัพยากรมากมาย แต่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า เพราะมีปัญหาเรื่อง “คน” ที่ยังมีความรู้ไม่เพียงพอทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่ต่ำมาก ยะลาจึงต้องสร้างคน

          ถ้ามีการกระจายอำนาจจะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรได้อย่างมีมีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ด้วยระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่ล็อคท้องถิ่นไว้ทั้งหมด ตั้งแต่การหารายได้ รวมถึงการสร้างสมรรถนะการแข่งขันระหว่างเมืองในวันข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ที่ถูกผูกขาดไว้โดยส่วนกลาง ทำให้ท้องถิ่นถอยหลัง เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปได้

          พงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า รัฐบาลได้กล่าวถึง “กองทุนเสริมสร้างพัฒนาสมรรถภาพของประเทศ” จากที่เคยตั้งงบประมาณไว้ที่ 100,000 ล้านบาท แต่เมื่อพิจารณาจากร่างงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2567 งบประมาณในโครงการดังกล่าวเหลือ 15,000 ล้านบาท ตนมองว่าท้องถิ่นไม่ได้มีหน้าที่ในการดำเนินการจัดการบริการสาธารณะอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเสริมสร้างสมรรถนะการแข่งขันระหว่างเมืองด้วย

          พงษ์ศักดิ์อุปมาการแข่งขันระหว่างเมืองว่า เหมือนกับมนุษย์ที่ต้องแข่งขันกับตัวเอง ถ้ามีสมรรถนะอยู่เท่าเดิมจะไม่มีการพัฒนาศักยภาพตนเอง จนในที่สุดจะพบกับคำว่า “แพ้” เพราะฉะนั้น ทุกเมืองในอนาคตจะต้องแข่งกันมากขึ้น ตนไม่เคยเชื่อว่าการสร้างสมรรถนะของประเทศด้วยการรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางจะสามารถแก้ปัญหาประเทศได้ ยกตัวอย่าง Soft Power ของเทศบาลนครยะลา อาทิ เสื้อผ้าบาติก นกกรงหัวจุก ไข่นกเขา ตนคิดว่าในอดีตถ้ามีการเสริมสร้างสมรรถนะเหล่านี้ ท้องถิ่นจะสามารถเติบโตพร้อมกับประเทศได้อย่างเข้มแข็ง ขณะเดียวกันตนมองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับท้องถิ่นทุกอย่างเป็นเพราะกฎหมายที่ประกาศออกมามองเพียงการจัดทำบริการสาธารณะ แต่ไม่ได้มองถึงความก้าวหน้าของท้องถิ่น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ตนพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจ

          พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า การออกระเบียบของกรมหรือกระทรวง ตนอยากให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ยกตัวอย่าง ปัญหาน้ำท่วมของภาคใต้ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วย การรับเงิน การเบิกจ่ายเงินฯ ในข้อ 93 การเบิกเงินเพื่อจ่าย เป็นเงินยืมให้แก่บุคคลใดในสังกัดยืม เพื่อปฏิบัติราชการให้กระทำได้ในเฉพาะรายการ (3) รายการค่าใช้สอย หรือค่าวัสดุที่ไม่ต้องจัดซื้อจัดจ้าง เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางราชการ ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม ค่าจัดงานการจัดกิจกรรมสาธารณะ และการจัดแข่งขันกีฬา ในระเบียบฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงค่าจัดการสาธารณภัย ท้องถิ่นไม่สามารถยืมเงินมาใช้บรรเทาสาธารณภัยได้ ปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะขาดความคิดเห็นของท้องถิ่น

          โดยเสนอให้ท้องถิ่นสามารถกำหนดโครงสร้างเองได้ ตนคิดว่า กรรมการเทศบาลจังหวัด (กทจ.) มีหน้าที่วางแผนทรัพยากรมนุษย์ในจังหวัดนั้น ๆ เพื่อส่งเสริมสมรรถนะการแข่งขันของจังหวัดนั้น ๆ  เพื่อมองภาพรวมจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละท้องถิ่น และจัดการพัฒนาศักยภาพของท้องถิ่นเข้าไปเติมเต็มในส่วนที่ขาด โดยกล่าวเสริมว่า หากท้องถิ่นสามารถกำหนดมาตรฐานตำแหน่งด้วยตนเองได้ จะช่วยให้การทำงานของท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมแนะว่าควรกำหนมาตรฐานเงินเดือนตามระดับความสามารถแทนที่การกำหนดตามวุฒิการศึกษา ซึ่งเป็นการสร้างแรงจูงใจในการดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับสู่ภูมิลำเนาเดิม ตามจริงแล้วในบางระเบียบสามารถแก้ไขได้

          “วันนี้อย่ากล่าวถึงเฉพาะบริการสาธารณะเพียงอย่างเดียว ให้คำนึงถึงเรื่อง Wellbeing Competitive สมรรถนะของเมืองด้วย จะทำให้คิดได้ไกลและกว้างขึ้น ซึ่งหลักของการบริหารต้องมี “การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” (Continuous improvement) หากขาดความต่อเนื่องสิ่งที่ตามมาคือ ความล้าหลัง ไม่เท่าทันโลก” พงษ์ศักดิ์ กล่าว

          สำหรับ นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลท้องถิ่นกล่าวว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดท้องถิ่นสามารถยื่นข้อเสนอเข้าไปได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะในฐานะบุคคล องค์กร และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มุ่งส่งเสริม อปท. ทั่วประเทศ ด้วยการจัดบริการสาธารณะ เพื่อการอยู่ดีมีสุข มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของประชาชนทุกคน ซึ่งไม่ได้มีเพียงการถ่ายโอนภารกิจของ 20 กระทรวง ในปัจจุบันตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ฉบับที่ 2 ได้กำหนดภารกิจต่าง ๆ ไว้กว่า 359 เรื่อง

          อย่างไรก็ตาม ภารกิจเหล่านั้นยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ครบตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และให้ติดตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับที่ 3 ศึกษาหมุดหมายงบประมาณ อปท. 35% จะมาพร้อมกับอุปสรรคแบบใด จะเกิดภาระปัญหาหรือไม่อย่างไร อปท. เตรียมรับมือไว้มากน้อยเพียงใด

          ภาระอำนาจหน้าที่ของ อปท. ครอบคลุมทุกด้าน โดย อปท. มีอำนาจบังคับทำ ต้องทำให้ได้ หรือต้องทำ อำนาจในการตัดสินใจ รวมถึงอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นตามข้อเสนอที่หลายฝ่ายยื่นต่อรัฐบาล ทั้งหมดยึดโยงเข้ากับการกระจายอำนาจ บทบาทภาระหน้าที่ หรือกิจกรรม กิจการ ในแต่ละพื้นที่ หากท้องถิ่นไม่มีงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่จะกลายเป็นการหาผ้าป่า ซึ่งตนได้เทียบเคียงให้เห็นว่า ทุกอย่างเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญที่กล่าวไว้ว่า ท้องถิ่นมีความเป็นอิสระในการจัดการภายใต้การกับกำดูแล “เท่าที่จำเป็น”

          นอกจากนี้ ในฐานะตัวแทนของ สถ. พร้อมรับข้อเสนอของ อปท. และสนับสนุนให้บรรลุผลตามเป้าหมาย ตราบใดที่สามารถทำให้พี่น้องประชาชนดีขึ้นได้ อปท. สามารถดำเนินภารกิจได้อย่างราบรื่น สถ. ยินดีให้การสนับสนุน

          ขณะที่ ชำนาญ กล่าวเสริมว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยใหญ่กว่า พ.ร.บ. จัดตั้ง ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่เกินอำนาจหน้าที่ ในหลายระเบียบใช้อำนาจเกินการกำกับดูแล ปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือ ระบบกฎหมายไทย องค์กรที่จะทำหน้าที่วินิจฉัย พ.ร.บ./พ.ร.ก. หรือร่างรัฐธรรมนูญใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่มีศักดิ์รองลงมาจะอยู่ที่ในความรับผิดชอบของศาลปกครอง ถ้าตราบใดที่องค์กรวินิจฉัยยังไม่ได้บัญญัติก็ถือว่าไม่ขัด ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าขัดกับกฎหมาย

          สุดท้าย ชำนาญได้เสนอให้กำหนดสิ่งที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ในรัฐธรรมนูญ เช่น ท้องถิ่นห้ามดำเนินงานเรื่องการทหาร การต่างประเทศระดับชาติ การเงินการคลังออกธนบัตร ฯลฯ ทั้งนี้ หากไม่เข้าข่ายละเมิดข้อกฎหมายที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ ท้องถิ่นสามารถจัดทำภารกิจนั้น ๆ ได้

          ส่วนกรมบัญชีกลาง โดย นายเสกสรร พหลเวชช์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานระบบพัสดุกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่าปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามาที่กรมบัญชีกลางกว่า 3,000 เรื่อง โดยในกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างกล่าวไว้ว่า กรรมการอุทธรณ์ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่สามารถพิจารณาได้ภายใน 30 วัน ขยายเวลาได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 15 วัน

          ทั้งนี้ เสกสรร ได้ให้ข้อมูลว่า บุคลากรหลักของหน่วยงานความรับผิดชอบของตนมีจำนวน 16 คน และบุคลากรสมทบอีกจำนวน 10 คน รวมทั้งหมด 26 คน โดยขั้นตอนการทำงานแบ่งเป็นการพิจารณาอุทธรณ์และการตอบหนังสือแจ้งแก่ผู้อุทธรณ์ สำหรับขั้นตอนการพิจารณาตนจัดการอยู่ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด แต่ขั้นตอนการตอบกลับนั้นต้องใช้เวลาในการเกลาเนื้อหาให้ละเอียดและครบถ้วน หากเนื้อหามีความคลุมครือผู้อุทธรณ์สามารถนำเนื้อหาส่วนดังกล่าวฟ้องต่อศาลได้ จึงจำเป็นต้องใช้เวลา และ เมื่อพิจารณาอุทธรณ์สำเร็จ 1 เรื่อง โดยที่ยังไม่ทันได้เขียนหนังสือตอบกลับ เรื่องใหม่ก็ถูกยื่นเข้ามา จึงต้องรีบพิจารณาอุทธรณ์นั้น ๆ ให้ทันระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้การเขียนหนังสือตอบกลับใช้เวลานานพอสมควร

          เสกสรร กล่าวอีกว่า กรมบัญชีกลางมีแนวทางในการแก้ปัญหาการยื่นอุทธรณ์และป้องกันการกลั่นแกล้ง ด้วยการแก้ไขกฎหมายการยื่นอุทธรณ์ต่อกรมบัญชีกลาง วิธีการแรกคือ การเก็บค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ร้อยละ… แต่ไม่เกินร้อยละ … ซึ่งจะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยจะตั้งคำถามว่าในการจะยื่นอุทธรณ์เพื่อความยุติธรรมต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยหรือ อย่างไรก็ตาม รายละเอียดขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนเตรียมยกร่างแก้ไข พ.ร.บ.

          และการแก้ปัญหาอีกวิธีให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ประจำเขต เพราะปัจจุบันการยื่นอุทธรณ์จะถูกส่งไปรวมกันอยู่ที่สำนักงานหลักในกรุงเทพมหานคร โดยให้กรรมการแต่ละเขตรับผิดชอบและจัดการกระบวนการทั้งหมด กรณีที่งบประมาณจำนวนมากกว่าปกติให้ส่งเข้าส่วนกลางช่วยพิจารณาและตรวจสอบ ซึ่งกรมบัญชีกลางมีคลังจังหวัดอยู่ครบทั้ง 77 จังหวัด ตนคิดว่าให้จัดตั้งกรรมการทุกจังหวัด แต่จะเกิดปัญหาเรื่องการควบคุมมาตรฐานของกรรมการ และงบประมาณในการดำเนินงาน

          ด้าน ชำนาญ กล่าวเสริมว่า ตนเห็นด้วยเรื่องการวางทุนทรัพย์ในการยื่นอุทธรณ์ พร้อมแนะว่าให้เพิ่มเติมเงื่อนไขหากผู้ยื่นอุทธรณ์ชนะจะได้ทุนทรัพย์คืน ถ้าแพ้ให้จ่ายค่าเสียเวลา ฯลฯ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ผู้ยื่นอุทธรณ์ตระหนักถึงก่อนดำเนินการในขั้นต่อไป

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

แจ้งข่าวดี! กรมการท่องเที่ยวจัดคอร์สเสริมพลังท้องถิ่น ด้านการท่องเที่ยวภาครัฐ

กรมการท่องเที่ยวจัดอบรมออนไลน์ ฟรี! เรื่อง “การเสริมพลั…

schedule
แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

แซงทางโค้ง! ลุงชาญปาดบิ๊กแจ๊ส นั่งเก้าอี้นายก อบจ.ปทุมฯ

เมืองปทุมฯ ระอุ หลัง “ชาญ พวงเพ็ชร” ล้ม “บิ๊กแจ๊ส – พล.…

schedule
ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

ทม.บึงยี่โถจัดใหญ่ “ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow” หนุนคุณค่าสูงวัยหัวใจสตรอง

“ลุงป้า ปู่ย่า หลานม่า The Festiwow”ภายใต้โครงการบูรณาก…

schedule
บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

บรรเทาวิกฤต “ขยะมูลฝอย” บทบาทสำคัญของท้องถิ่น

ปี 66 ปริมาณขยะมูลฝอยในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ …

schedule

นิตยสารผู้นำท้องถิ่นออนไลน์ รวมข่าวสารอัพเดทของคนท้องถิ่น

ติดต่อเรา

อีเมล : [email protected]